โครงการแข่งขัน
MOE Mini Hackathon 2022

Trusted by

What is Hackathon

Hackathon เป็นการระดมสมองเพื่อสร้างนวัตกรรมแบบเร่งด่วน เกิดจากคำสองคำ คือ “Hack”ที่หมายถึง กลุ่มบุคคลที่ชอบคิดใหม่ ทำใหม่ และ “Marathon” หมายถึงกิจกรรมแข่งขันที่ใช้ระยะเวลานาน เมื่อนำมารวมกันจึงแปลว่า การรวมตัวกันเพื่อค้นหาและสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ภายใต้กรอบงานที่กำหนด โดยปกติจะใช้ระยะเวลาในการทำกิจกรรมประมาณ 12, 24 หรือ 48 ชั่วโมง หรืออาจยาวนานเป็นสัปดาห์ นับตั้งแต่เริ่มระดมความคิด การค้นหาข้อมูลรอบด้าน ตลอดจนการนำเสนอไอเดีย เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถต่อยอดได้จริง

ทำไมกระทรวงศึกษาธิการต้องจัด MOE Mini Hackathon 2022

            MOE Mini Hackathon 2022 เกิดจากความตั้งใจและความมุ่งมั่นของกระทรวงศึกษาธิการที่จะแก้ปัญหาการถดถอยทางการเรียนรู้ หรือ Learning Loss ที่เกิดจากการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และส่งผลต่อทักษะและพัฒนาการของเด็กโดยตรง เช่น ทักษะทางสังคม ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรมเด็กสูญเสียโอกาสในการสร้างบุคลิกของตนเองว่าจะเป็นอย่างไร เช่น เป็นผู้มีอัธยาศัยดี เป็นคนเก็บตัว เป็นคนขี้อาย หรือเป็นคนมั่นใจในตัวเอง เมื่อเด็กไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่มีเพื่อน ไม่ได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ไม่ได้ทำอะไรหน้าชั้นเรียน หน้าเสาธง ก็ไม่ได้แสดงความเป็นผู้นำ เพราะการเรียน Online ไม่สามารถทำให้เด็ก ๆ ได้ฝึกฝนทักษะเหล่านั้นได้

Learning Loss ทำให้เด็กต้องสูญเสียอะไรบ้าง

  1. พัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสารการเรียนออนไลน์ทำให้เด็กไม่ค่อยได้คุยกับใครนอกจากพ่อแม่ ไม่ได้เล่นกับเพื่อน ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคุณครู การดู YouTube เล่น iPad หรือเล่นเกมไม่ได้พัฒนาทักษะภาษาของเด็ก เมื่อต้องกลับเข้าสู่โรงเรียน ประสิทธิภาพในการเรียนรู้และศักยภาพในการใช้ภาษาก็จะลดลง
  2. ทักษะด้านความสัมพันธ์ถดถอยเด็กบางคนอยู่บ้านจนเกิดความเคยชิน เมื่อต้องไปโรงเรียนอาจเกิดภาวะ School Phobia หรือกลัวการไปโรงเรียน ไม่ชอบ ไม่อยากไป 
  3. ขาดระเบียบวินัย ความรับผิดชอบโดยเฉพาะเด็กอนุบาลหรือเด็กประถม เพราะเด็กจะได้รับการฝึกฝนสิ่งเหล่านี้จากโรงเรียน มีแรงจูงใจจากเพื่อน ๆ และคุณครู เมื่อเด็กมีวินัยทำตามกฎของโรงเรียนหรือของห้องเรียนก็จะได้รับคำชม เป็นกลไกหนึ่งในการหล่อหลอมเด็กแต่ละคน
  4. บุคลิกภาพไม่ได้รับการพัฒนาเมื่ออยู่บ้านนานเกินไป เด็กจะขาดทักษะการเข้าสังคม ซึ่งการเข้าสังคม การคบเพื่อน การทำกิจกรรมกับเพื่อนเป็นการพัฒนาบุคลิกภาพอย่างหนึ่ง เด็กอาจมีความรู้ความสามารถทางวิชาการที่ช้าลง 

(ที่มา : https://www.rakluke.com/child-development-all/kid-development/item/learning-loss.html)

            กระทรวงศึกษาธิการ จึงมีนโยบายที่จะแก้ปัญหาภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss)โดยมองปัญหาในภาพกว้างทั้งหมดที่ส่งผลถึงการเรียนรู้ของนักเรียน และตั้งธงไว้ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ต้องได้รับการเยียวยาให้กลับมาอยู่ในภาวะปกติก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

            แน่นอนว่าปัญหา Learning Loss เป็นปัญหาระดับชาติ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเด็กที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศ การคิดแก้ปัญหาจึงต้องลงมืออย่างเร่งด่วน รวดเร็ว ซึ่งวิธีการจัดแข่งขัน Hackathon นับเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดีและได้ผลลัพธ์ในเวลาอันรวดเร็ว

            ด้วยเหตุนี้ กระทรวงศึกษาธิการ จึงร่วมมือกับเครือข่ายคุณครูรุ่นใหม่ ภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา รวมถึงสตาร์ทอัพด้านการศึกษา (EdTech) จัด MOE Mini Hackathon 2022  เพื่อเฟ้นหาหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ใช้แก้ปัญหา Learning Loss และสามารถนำไปขยายผลการทำงานร่วมกันในอนาคต

ความร่วมมือกับภาคเอกชน

            กระทรวงศึกษาธิการ จับมือกับภาคเอกชนหลากหลายหน่วยงาน อาทิ คุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน Kasikorn Business-Technology Group (KBTG) บริษัทเทคโนโลยีในเครือธนาคารกสิกรไทยซึ่งนำทีม ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ , เอ็ดไวซอรี่ , mappa , เพจ Toolmorrow , Starfish Education รวมถึงคุณหมอกุมารแพทย์และนักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น มาให้ความรู้และเป็น MENTOR ให้กับผู้เข้าแข่งขันทุกคน โดยจะเจาะลึกเนื้อหาเกี่ยวกับ Learning Loss ใน 3 Track ได้แก่

          – Family Engagement Track วิธีการให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการฟื้นฟู Learning Loss

          – Knowledge Track วิธีการเช็ค Learning Loss ของนักเรียนและวิธีการช่วยเหลือ

          – Social Emotional/Well Being Track วิธีการประเมินสภาพจิตใจของนักเรียนและคุณครู พร้อมประสานความช่วยเหลือที่ตรงจุด

            นอกจากนี้ งาน MOE Mini Hackathon 2022 ยังเป็นการรวมตัวกันของภาครัฐและภาคเอกชนที่คร่ำหวอดในวงการศึกษามาร่วมเป็นทีม showcase นำเสนอไอเดียสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา Learning loss จำนวน 12 ทีม และคนรุ่นใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการการการศึกษาขั้นพื้นฐานจะนำไอเดียนั้นไป Hackathon เพื่อต่อยอดความคิด พร้อมสร้างสรรค์วิธีการขยายผลสู่ความสำเร็จต่อไป

วัตถุประสงค์ของการจัด MOE Mini Hackathon 2022

             การจัด MOE Mini Hackathon 2022 มี วัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. เครือข่ายครูรุ่นใหม่ ภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา รวมถึงสตาร์ทอัพด้านการศึกษา (EdTech) เพื่อเฟ้นหาหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา Learning Loss ที่สามารถนำไปขยายผลการทำงานร่วมกันในอนาคต

มีใครบ้างในงาน MOE Mini Hackathon 2022

          ในงาน MOE Mini Hackathon 2022 ประกอบด้วยบุคลากรหลายกลุ่ม ได้แก่

  1. ทีมผู้จัดงานและทีม OBEC CHANNEL ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน และทีมครูคนเก่งจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้งประถมศึกษาและมัธยมศึกษา รวมกว่า 70 คน
  2. ทีมผู้เข้าแข่งขัน ได้แก่ กลุ่มคนรุ่นใหม่จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาส่วนกลาง ครูรุ่นใหม่จากทีม AL HEREO (Active Learning Hero)รวมกว่า 60 คน
  3. ทีมผู้นำเสนอผลงานความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา Learning Loss (หรือทีม Showcase) ประกอบด้วยบุคลากรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ ครูผู้สอนจาก สพฐ. และครูต่างสังกัด บุคลากรจากเว็บไซต์การศึกษา : WE Space,Vonder Thailand,The Mindset Maker,Inskru และ School Bright รวม 34 คน
  4. ทีมวิทยากร / MENTORS นำทีมโดย คุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล ประธาน Kasikorn Business-Technology Group (KBTG) บริษัทเทคโนโลยีในเครือธนาคารกสิกรไทย เจ้าของฉายา “นักปั้น”จนถึง “Godfather of Thai Tech Startup” พร้อมด้วยทีมวิทยากร จาก ดิสรัปท์ เทคโนโลยี เวนเจอร์ , เอ็ดไวซอรี่ , mappa , เพจ Toolmorrow , Starfish Education รวมถึงคุณหมอกุมารแพทย์และนักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น รวม 21 คน

มีอะไรบ้างในงาน MOE Mini Hackathon 2022

            ในวันที่ 25 – 27 เมษายน 2565 ระยะเวลา 3 วันของการแข่งขัน อัดแน่นด้วยสาระสำคัญตั้งแต่วันแรกถึงวันสุดท้าย ผู้เข้าแข่งขันทุกคน จะได้รู้จักและเข้าใจปัญหา Learning loss ในเชิงลึก ได้เรียนรู้การ Brainstorm การคิดอย่างสร้างสรรค์ ฝึกฝนการนำเสนอผลงานหรือเทคนิคการทำ Elevator Pitch แบบ Startup ได้รับฟังไอเดียการแก้ปัญหาจากทีม showcase  12 ทีม 12 ไอเดีย และสุดท้าย ผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะต้องเข้าสู่การแข่งขัน Hackathon และแข่ง Pitching (นำเสนอผลงาน) โดยมี MENTOR คอยดูแลและเป็นที่ปรึกษาตลอดการแข่งขัน

จะเกิดอะไรขึ้น หลังงาน MOE Mini Hackathon 2022

           หลังการแข่งขัน กระทรวงศึกษาธิการจะได้ไอเดียการแก้ปัญหา Learning Loss 12 ไอเดีย และไอเดียการนำวิธีการแก้ปัญหาไปขยายผลสู่ความสำเร็จอีก
9 ไอเดีย ไปสานต่อโดยกระทรวงศึกษาธิการ สพฐ.และองค์กรเอกชนด้านการศึกษา ร่วมกันผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหา Learning Loss อย่างแท้จริง